เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุขในสังฆาราม มิใช่เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุแห่งการกระทำ แต่
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เดินจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง จากวิหารหนึ่ง
ไปสู่อีกวิหารหนึ่ง จากเรือนหลังคาด้านเดียวแห่งหนึ่ง ไปสู่เรือนหลังด้านเดียวอีก
แห่งหนึ่ง จากปราสาทหนึ่งไปสู่อีกปราสาทหนึ่ง จากเรือนโล้นหลังหนึ่งไปสู่เรือนโล้น
อีกหลังหนึ่ง จากถ้ำหนึ่งไปสู่อีกถ้ำหนึ่ง จากที่หลีกเร้นแห่งหนึ่งไปสู่ที่หลีกเร้นอีก
แห่งหนึ่ง จากกุฏิหนึ่งไปสู่อีกกุฏิหนึ่ง จากเรือนยอดแห่งหนึ่งไปสู่เรือนยอดอีก
แห่งหนึ่ง จากป้อมหนึ่งไปสู่อีกป้อมหนึ่ง จากปะรำหนึ่งไปสู่อีกปะรำหนึ่ง จากเรือน
ที่พักแห่งหนึ่งไปสู่เรือนที่พักอีกแห่งหนึ่ง จากโรงเก็บของแห่งหนึ่งไปสู่โรงเก็บของอีก
แห่งหนึ่ง จากโรงฉันแห่งหนึ่งไปสู่โรงฉันอีกแห่งหนึ่ง จากโรงกลมแห่งหนึ่งไปสู่โรง
กลมอีกแห่งหนึ่ง จากโคนต้นไม้แห่งหนึ่งไปสู่โคนต้นไม้อีกแห่งหนึ่ง เดินไปที่ที่พวก
ภิกษุนั่งกันอยู่ เป็นที่ 2 ของภิกษุ 1 รูป เป็นที่ 3 ของภิกษุ 2 รูป หรือเป็นที่ 4
ของภิกษุ 3 รูป ในที่นั้น พูดเรื่องเพ้อเจ้อมากมายในที่นั้น คือ เรื่องพระราชา
เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็น
ผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ ได้แก่ เป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบ
ด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง1 มีฌาน เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายใน
ความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า เป็นผู้ไม่
สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า คุ้มครองอินทรีย์ ในคำว่า คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ

เชิงอรรถ :
1 เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง หมายถึงภิกษุเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว เข้าไปยัง
เรือนว่างนั่งอยู่ตลอดคืนและวัน แม้บำเพ็ญอยู่ในปราสาทมีพื้นชั้นเดียวเป็นต้น ก็ชื่อว่าเพิ่มพูนเรือนว่างเหมือนกัน
(ขุ.ม.อ. 160/410)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :475 }